ประวัติศาสตร์ธงชาติไทย กว่าจะมาเป็นธงไตรรงค์ในปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์ธงชาติไทย กว่าจะมาเป็นธงไตรรงค์ในปัจจุบัน
ในสมัยอยุธยามีการใช้ธงพื้นสีแดงในการเป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงว่าเป็นเรือบรรทุกสินค้าของชาติสยามในการเดินเรือค้าขายกับต่างประเทศทางตะวันตก พอมาถึงช่วงรัชสมัยของพระนารายณ์ มีการค้าขายกับฝรั่งเศสมีการนำธงพื้นสีแดงชักขึ้นเสาแทนธงชาติฮอลันดาและฝรั่งเศสยอมสลุตคำนับ นับตั้งแต่นั้นมาธงพื้นสีแดงจึงเป็นเหมือนธงชาติของสยามเรื่อยมา
ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงใช้ธงพื้นสีแดง (ธงแดงเกลี้ยง) ชักเป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศอยู่ โดยใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่1) ทรงมีพระราชดำริว่าเรือหลวงกับเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายให้เห็นแตกต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูป "จักร" สีขาวติดไว้กลางธงสีแดงเป็นเครื่องหมายใช้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปนั้น ยังคงใช้ธงพื้นสีแดงอยู่
ขึ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่2) พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอกมาสู่พระบารมีถึง 3 ช้าง ซึ่งถือเป็นพระเกียรติยศอย่างสูง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างสีขาวยืนพื้นอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงอันมีความหมายว่า “พระเจ้าแผ่นดินผู้มีช้างเผือก” และธงรูปช้างเผือกสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวนี้ก็ใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น ส่วนเรือพ่อค้าไทยทั่วไปก็ยังคงใช้ธงแดงอยู่ตามเดิม
ครั้นขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) สยามได้มีการทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีเรือสินค้าของประเทศต่างๆ ทั้งจากยุโรปและอเมริกาล่องเข้ามาค้าขายมากขึ้น พร้อมทั้งมีสถานกงสุลตั้งอยู่ในพระนคร ซึ่งชักธงชาติของประเทศตนเองขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศสยามจะต้องมีธงชาติที่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริว่าธงสีแดงซึ่งเป็นธงที่ใช้กับเรือของสามัญชนซ้ำกับประเทศอื่น สมควรยกเลิก และหันมาใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติสยามสำหรับเรือสามัญชนด้วย แต่โปรดเกล้าให้เอารูปวงจักรสีขาวออกเสีย เพราะเป็นของสูงซึ่งถือเป็นเครื่องหมายเฉพาะของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น โดยให้คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง แต่ให้ปรับขนาดช้างเผือกให้ใหญ่ขึ้น โดยในช่วงแรกเป็นแบบช้างเผือกยืนพื้น ต่อมาปรับรูปช้างเป็นแบบช้างเผือกปล่อย
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) ก็ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามเป็นครั้งแรก ยืนยันถึงลักษณะของธงชาติสยามเป็นแบบธงพื้นสีแดงตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกสีขาวปล่อยหันหน้าเข้าหาเสา
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) ได้ทรงพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ไกล จะมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการเท่าไร และรูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่งดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมให้แก้ธงชาติเป็นพื้นสีแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสา สำหรับเป็นธงราชการ" ซึ่งถือเป็นธงช้างรูปสุดท้ายของธงในสมัยรัตนโกสินทร์
และช่วงท้ายในปีพ.ศ. 2459 ก็ได้มีการยกเลิกการใช้ธงชาติแบบช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเปลี่ยนธงช้างเป็นธงแถบสี เพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อธงช้างมาจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้นเป็นที่น่าละอาย ซึ่งหากเปลี่ยนเป็นธงแถบสีแล้ว ราษฎรก็สามารถทำธงใช้ได้เอง และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาด
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6)ได้ทรงอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ฉบับภาษาอังกฤษ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2460 มีผู้เขียนเรื่องธงใช้นามปากกาว่า "อะแควเรียส" ได้ปรารภถึงธงชาติแบบใหม่ว่า ยังมีลักษณะไม่สง่างามเพียงพอ และเสนอแนะว่าริ้วตรงกลางควรจะเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีของพระมหากษัตริย์ และหากธงชาติไทยประกอบด้วยสีแดง ขาว น้ำเงิน ก็จะมีสีเหมือนกับธงของฝรั่งเศส อังกฤษ และ อเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งน่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับประเทศเหล่านี้ต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการมีสีของสถาบันพระมหากษัตริย์ในธงชาติ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ชาติสยามเข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่างๆ
พระองค์จึงทรงให้เปลี่ยนแถบสีแดงที่ตรงกลางธงเป็น สีน้ำเงินขาบ (เป็นชื่อสีโบราณอย่างหนึ่งของไทย คือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) อีกทั้งการที่พระองค์ได้เลือกสีนี้เพราะสีขาบเป็นสีประจำพระองค์ที่โปรดมาก เนื่องจากเป็นสีประจำวันพระราชสมภพคือวันเสาร์ตามคติโหราศาสตร์ไทย
พระองค์ทรงพระราชทานชื่อเรียกใหม่ว่า "ธงไตรรงค์" พร้อมความหมาย สีแดงหมายถึงเลือดอันยอมพลีเพื่อธำรงรักษาชาติและศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ และ สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งศาสนา
ธงไตรรงค์มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน ในปัจจุบันได้มีประกาศคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 ได้มีการกำหนดค่าสีมาตรฐานของธงไตรรงค์ไว้เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน